APAC HPC-AI Competition 2024 (คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดการแข่งขัน)

ภาพและเนื้อหาจาก https://www.facebook.com/sciencetulp
ทีมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางได้เดินเข้าสู่การแข่งขันซูเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ในการแข่งขันแต่ละปีนับแต่ตั้งปี 2018 นักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายต่อหลายรุ่น และอาจารย์ผู้ควบคุมและฝึกสอนอย่าง ผศ.ดร.วรวรรณ ดีอัซ การ์บาโย ที่ได้ฝึกซ้อมทีมมาตั้งแตปีแรก จนถึงปีที่ 7 โดยในการแข่งขันในทุกปีจะมีโจทย์ทางด้าน HPC และโจทย์ทางด้าน AI ที่ต้องการผลลัพธ์จากการปรับปรุงประสิทธิภาพที่ดีที่สุด โดยรางวัลในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้รับรางวัลดังต่อไปนี้ ในปี 2020 อยู่ในอันดับที่ 7, ปี 2021 ได้รับรางวัล Third Place, ปี 2022 ได้รับรางวัล Third Place พ่วงด้วยรางวัล Winner of the Best Performance Award ต่อมาในปี 2023 ได้รับรางวัล Merrit Place และปีล่าสุดได้รับรางวัล Second Place พ่วงด้วยรางวัล Best Presentation Awards นับเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งก้าวใหญ่ของทีม พิธีมอบรางวัลจะจัดที่ SupercomputingAsia 2025 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 10 – 13 มีนาคม 2568 เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพของนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง บนเวทีโลก ดูผลการแข่งขัน (คลิกที่นี่)
การแข่งขันเอชพีซี-เอไอ แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 7 ประจำปี 2024 (The 7th APAC HPC-AI Competition) เป็นการแข่งขันเชิงเทคนิคขั้นสูงสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งญี่ปุ่นและทวีปออสเตรเลีย การแข่งขันนี้จัดโดย สภาที่ปรึกษาด้านการคำนวณสมรรถนะสูงและปัญญาประดิษฐ์ (HPC-AI Advisory Council) ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติสิงคโปร์ (National Supercomputing Centre Singapore) โครงสร้างพื้นฐานการคำนวณแห่งชาติออสเตรเลีย (National Computational Infrastructure) โดยมี บริษัท NVIDIA Corporation เป็นผู้สนับสนุนหลัก การแข่งขันนี้เป็นการแข่งขันแบบออนไลน์ ใช้เวลา 6 เดือน (พ.ค. – พ.ย.) ผู้เข้าแข่งขันทุกทีมได้เข้าร่วมฝึกอบรม ฝึกทักษะการสร้างและประมวลผลโมเดลบนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ แต่ละทีมจะได้เข้าใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ GADI ของ NCI Australia และ ASPIRE2A ของ NSCC Singapore เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความเร็วของงาน HPC และ AI บนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดยไม่เน้นการพัฒนารูปแบบใหม่
โจทย์ในการแข่งขัน มี 2 โจทย์ โดยทุกทีมมีโอกาสฝึกเพิ่มประสิทธิภาพสองงานสำคัญคือ HOOMD-blue และ Llama 2 ซึ่งแต่ละงานเป็นความท้าทายที่สำคัญของประมวลผลภาษา Python บนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ต่างจากปีที่ผ่านมาซึ่งโมเดลใช้ภาษา C++ หรือ Fortran
การปรับปรุงประสิทธิภาพ HOOMD-blue (โจทย์ฝั่ง HPC)คือ การจำลองอนุภาคที่มีความซับซ้อนช่วยในการศึกษาวิทยาศาสตร์ วัสดุและการผลิตยาซึ่งส่งผลให้กระบวนการพัฒนาวัสดุใหม่และยารักษาโรคเร็วขึ้น
การปรับปรุงประสิทธิภาพโมเดล Llama 2 (โจทย์ฝั่ง AI) คือ การพัฒนาโมเดลภาษาใหญ่ (LLM) เพื่อปรับปรุงการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ช่วยลดเวลาในการฝึกฝนโมเดลลง 32.55% ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพ ความสามารถในการปรับใช้ และการทำให้เทคโนโลยี AI เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ในการแข่งขันครั้งนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกดังต่อไปนี้
1. นาย ธนเทพ โรจนไพรวงศ์ (นักศึกษาชั้นปีที่ 4)
2. นาย พีระ สิทธิรส (นักศึกษาชั้นปีที่ 4)
3. นางสาว รัชนีกร วีระศิลป์ (นักศึกษาชั้นปีที่ 4)
4. นาย เกียรติศักดิ์ นวลอ้าย (นักศึกษาชั้นปีที่ 3)
5. นาย ณัฐวัฒน์ ติ๊บมา (นักศึกษาชั้นปีที่ 3)
6. นาย จิรัฏฐ์ บัวหลวง (นักศึกษาชั้นปีที่ 3)
7. นาย ธีรเจต จันทร์ผา (นักศึกษาชั้นปีที่ 3)
8. นางสาว จิราพัชร์ ลือเฟื่อง (นักศึกษาชั้นปีที่ 2)